July 12, 2004

สัตว์ประหลาด : เมื่อมนุษย์กลายพันธุ์


คำเตือน : มีการเฉลยเนื้อเรื่องค่อนข้างมาก ไม่ควรอ่านหากยังไม่ได้ดู



สัตว์ประหลาด : เมื่อมนุษย์กลายพันธุ์



8/10




“สัตว์ประหลาด” แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นสองส่วน ว่าด้วยความสัมพันธ์ของ เก่ง(บัลลพ ล้อมน้อย) ทหารหนุ่มในเขตชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี กับ โต้ง(ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) ลูกจ้างโรงงานน้ำแข็ง ส่วนแรกนี้มีลักษณะการเล่าเรื่องคล้ายคลึงกับงานเก่าอย่าง “สุดเสน่หา” ของอภิชาตพงศ์เอง คือถ่ายภาพที่ไม่เน้นการปรุงแต่ง เล่าเรื่องโดยไม่พยายามเร้าอารมณ์ใดๆ เพื่อนำเสนอชีวิตประจำวันของสองคนนี้ เพียงแต่ดูง่ายกว่าด้วยท่าทีเจืออารมณ์ขัน

เก่ง กับ โต้ง พบเจอกันบ่อยในเมือง ทั้งคู่สนิทสนมกันดี เก่งถึงขนาดไปเยี่ยมโต้งที่บ้าน ชีวิตของพวกเขาราวกับคู่รักใหม่ที่กำลังอิ่มเอมในรักอันหวานชื่น เก่งสอนให้โต้งขับรถ ให้ของขวัญกัน ไปดูหนังและกระเซ้าเย้าแหย่อย่างไม่สนใจใคร ไปกินอาหารโต้งก็ไปร้องเพลง “วนาลี” ให้เก่งฟัง

หนังถ่ายทอดเรื่องราวตอนแรกของสองคนนี้ราวกับ “รักบริสุทธิ์” ที่อยู่ในโลกอุดมคติ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงของโต้งที่เพราะเกินการร้องเพลงในร้านอาหารทั่วไป ภาพครอบครัวของโต้งที่อยู่กับธรรมชาติอย่างร่มรื่นย์ การพูดหยอกล้อของชายสองคนที่หวานจนอาจดูเชย(ซึ่ง “รักเชยๆ” นี่เองที่เป็นลักษณะของรักแบบอุดมคติ)

อย่างไรก็ตามหากเมื่อสังเกตกันให้ลึกๆ เรากลับพบแง่มุมสะเทือนใจในตอนแรกอยู่ไม่น้อยเพียงแต่หนังหลบเร้นเรื่องราวดังกล่าวไม่ให้เปิดเผยออกมา ไม่ว่าจะเป็นการหางานใหม่และการไม่รู้หนังสือของโต้ง การติดเกมส์ในร้านคอมพิวเตอร์แบบไทยๆ ความรู้สึกแปลกแยกของโต้งเมื่อเห็นชายหญิงที่แต่งตัวดูดีราวกับคนต่างชาติในร้านสนุกเกอร์แห่งหนึ่ง เหตุการณ์ที่หวิดจะทะเลาะกันของโต้งกับเก่งเมื่อเข้าไปส่วนถ้ำในวัดที่ป้าคนหนึ่งอ้างว่าสามารถทำให้ไฟฉายดับ และมีแก๊สพิษจนเก่งไม่ยอมเข้าไป ภาพความรุนแรงในวิถีปกติของย่านราตรี รวมไปถึงภาวะที่อบอวลไปด้วยเสียงของ “เมือง” ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถยนต์ เสียงดนตรีเพื่อเต้นออกกำลังกาย โฆษณาจากโทรทัศน์และวิทยุ และผู้คนอันจอแจแทบจะตลอดจนทำให้ฉากพลอดรักของเก่งและโต้งเป็นสิ่งที่ดูสวยงามและสงบอย่างยิ่ง

ขณะที่ส่วนแรกเป็นที่น่าภิรมย์ ส่วนสองคือความน่าอึดอัดจนเป็นด้านตรงข้าม ดูเผินๆ ส่วนสองที่เรียกว่า “วิญญาณ” (ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของ น้อย อินทนนท์) เป็นคนละเรื่องกับเรื่องแรก เพียงแต่มีนักแสดงหลักสองคนคนเดียวกันเท่านั้น เก่งกลายเป็น “นายทหาร” และ โต้ง กลายเป็นสัตว์ประหลาด หรืออาจเรียกได้อย่างที่คนไทยรู้จักว่า “เสือสมิง” แล้วเรื่องเล่าแบบเดิมก็อาศัยวิธีการแบบ “นิทานพื้นบ้าน” มาเล่าไปพร้อมกับการเดินป่าท่ามกลางความมืด ที่แทบจะไม่มีคำพูดใดๆ เปล่งออกมา

หากแต่สังเกตในตอนแรก เราจะพบว่าหนังได้ปูเชื้อตอนที่สองนี้ไว้อยู่เหมือนกัน ตั้งแต่ตอนต้นเรื่องเราได้เห็นเก่งและทหารคนอื่นเก็บศพผู้ตายที่ไม่เห็นหน้าออกไป ก่อนจะพบว่ามีโต้งเดินเปลือยกายอยู่ไกลจากตรงนั้น ราวกับจำอะไรไม่ได้, ฉากในตอนท้ายเรื่องหลังจากทั้งคู่พลอดรักกัน(โดยโต้งมีลักษณะการแสดงออกที่ราวกับสัตว์ที่คลอเคลียคู่รักตามสัญชาตญาณ) ก่อนจะปิดฉากอย่างเป็นลางโดยให้โต้งเดินหายไปกับความมืดมิด และหนังก็จบเรื่องอย่างทิ้งปมเมื่อโต้งตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง แต่เก่งเข้ามาในห้องแต่ไม่พบโต้งเสียแล้ว จนอาจสรุปเหตุการณ์ของสองตอนนี้ให้ต่อเนื่องดูเป็นเรื่องราวว่า

เก่งและโต้งชายสองคนที่เป็นคู่รักกันอยู่แล้ว แต่วันหนึ่งโต้งได้ถูกเสือสมิงฆ่าตายและอาศัยร่างและความทรงจำของโต้งใช้ชีวิตเหมือนเช่นปรกติ แล้ววันหนึ่งมันก็จากไปพร้อมกับร่างของโต้ง เก่งซึ่งเป็นทหารได้ออกติดตามหาตัวชาวบ้านที่หายไป(ซึ่งก็คือโต้ง) แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับ “เสือสมิง” ซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าคือโต้ง(ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเสือสมิง ?) ระหว่างที่เก่งกำลังถูกครอบงำจากธรรมชาติแห่งป่า การถูกทำร้ายจากการต่อสู้ ให้ร่ำๆจะกลายเป็นสัตว์ร้ายไปแล้วนั้น ในที่สุดเขาก็ต้องเผชิญหน้าร่างที่แท้จริงของเสือสมิง ซึ่งมันได้ตัดสินใจคืนความทรงจำที่งดงามระหว่างมันกับเก่งกลับไปให้เขาอีกครั้ง

ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องเชื่อสิ่งที่เล่าไปแล้วข้างต้น เพราะหนังเปิดโอกาสให้เราตีความอย่างกว้างขวางยิ่ง อย่างไรก็ตามตอนแรกและตอนสองของเรื่อง มันผนวกให้ “สัตว์ประหลาด” เป็นเรื่องโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่น่าทึ่งยิ่ง

หนังได้วิพากษ์มนุษย์โดยอาศัยจากคำโปรยเปิดเรื่องที่บอกเราว่าในตัวมนุษย์เรามีสัตว์ประหลาดอยู่ในตัวทุกคน และมันก็ผลักดันให้กระทำสิ่งที่ขัดกับสันดานของเราเอง

เราเผลอกลัวความมืดวังเวงไปพร้อมกับการเข้าป่าของเก่ง ทั้งที่เราต่างลืมสำเหนียกไปว่ามนุษย์เองคือสัตว์ชนิดหนึ่งที่เคยดำรงอยู่อาศัยพึ่งพิงป่ามาก่อน แต่มาบัดนี้เรากลับแปลกแยกไม่สามารถยอมรับพื้นฐานดังกล่าวได้อีกต่อไป โดยพยายามหลบเร้นความรู้สึกดังกล่าวด้วยการลืมและหนี ดังเช่นที่เราพบกับโลกอุดมคติในเมืองเล็กๆ ที่โต้งและเก่งคิดว่ามันเป็น(ทั้งที่คงไม่เป็นเช่นนั้นจริง) และเช่นที่เราเห็นเก่งเลือกจะหนีออกจากถ้ำลึกลับแทนที่จะเลือกการเผชิญหน้ากับความกลัว แต่ในท้ายที่สุดเก่ง(และมนุษย์ทุกคน) ก็หนีไม่พ้นต้องส่องไฟฉายไปพบกับความกลัวเข้าสักวัน

ขณะที่เสือสมิงในร่างโต้ง ก็พบกับความแปลกแยกของสังคมเมืองเช่นกัน หากเราตัดร่างเสือสมิงไป โต้งเองก็เป็นเพียงคนชนบทแท้ๆ เขาไม่มีความรู้มากมายที่สังคมเลือกให้ผู้คนต้องมี จนเขาเองก็เหมือนจะยืนข้างธรรมชาติมากกว่าเก่ง ตัวเก่งเองนั้นสวมชุดทหารอำพรางตัวในป่า ไม่ต่างกับโต้งเองก็สวมชุดทหารอำพรางตนเป็นคนเมือง ราวกับว่าเขาต้องหลบซ่อนความแปลกแยกที่มีต่อเมืองเอาไว้ ต้องทำเป็นรู้หนังสือทั้งที่ไม่รู้ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์สมัยใหม่ได้เพราะมันเป็นภาษาไทย เลือกฟังเพลงร็อคยอดนิยมอย่าง “แคลช” ทั้งที่เขาเลือกร้องเพลงแทนความรักเก่งด้วยเพลง “วนาสวาท”

“สัตว์ประหลาด” มีอีกชื่อหนึ่งคือ Tropical Malady ซึ่งหมายถึงโรคเขตร้อน จะด้วยลักษณะสังคมบริโภคนิยมหรืออย่างไรกัน มนุษย์จึงติดโรคกันถ้วนหน้า โรคที่ทำให้ละทิ้งพื้นฐานเดิมของตน และขับเคลื่อนชีวิตไปด้วยวัตถุและสิ่งยั่วยุสารพัด คำพูดของเสือสมิงที่ว่า “มันเป็นสิ่งมีชีวีตที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความทรงจำของคนอื่น” ชวนสะท้อนใจให้นึกว่าที่แท้สิ่งมีชีวิตที่ว่าคือมนุษย์มิใช่หรือ

ตอนจบที่แสนเศร้ายังชวนให้นึกไปถึงความรักอันบริสุทธิ์ของชายสองคน ที่ลำพังสิ่งที่เราเห็นมันช่างเปี่ยมสุข แต่ท่ามกลางสังคมที่มีบรรทัดฐานเดียวตัดสินชีวิต การจบแฝงเร้นด้วยความเศร้าของเก่งและโต้งอาจเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสักวัน

หนังจบลงพร้อมกับความมืด เสียงธรรมชาติที่อวลด้วยเสียงหรีดเรไร ลมพัดใบไม้อย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมกับเสียงที่เข้ามาแทนที่นั่นคือเสียงของเครื่องจักรบางอย่างซึ่งเป็นเสียงแทนความรู้สึกที่ดีงามของเก่ง และ โต้ง มันอาจมองเห็นด้านที่สวยงามแต่ก็มื้ดมิด และทำให้ผมรู้สึกได้ทันทีว่าบัดนี้....เราได้กลายพันธุ์เป็นสัตว์ประหลาดไปแล้วกระมัง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - -



ลำพังเพียงการผสมผสานลักษณะแบบนิทานพื้นบ้านจนสร้างเอกลักษณ์ให้กับการเล่าเรื่องของหนัง การสร้างอารมณ์ด้านภาพอย่างมีพลังไปพร้อมภาวะนิ่งเงียบและผ่านเลยแต่กลับทำให้ต้องขบคิดย้อนหลัง ก็ถือว่า “สัตว์ประหลาด” ประสบความสำเร็จในการนำเสนออย่างยิ่ง

แต่หลังจากภาพบนจอมืดดับลงไป สิ่งที่ตามมาทันทีทันใดย่อมเป็นความพิศวงในความแปลก บรรยากาศอันผิดแผกแตกต่าง รวมไปถึงความงุนงงสงสัยราวกับมีเครื่องหมายคำถามเข้ามาในหัวเต็มไปหมด



นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราดูหนังของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แล้วคนดูจะรู้สึกอย่างนั้น แต่หากเราไม่เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตเลย และมัวตั้งคำถามว่า “นี่เรียกว่าหนังหรือ ?” คงไม่มีประโยชน์อะไรหากเราเลือกที่จะ “คาดหวัง” หรือ “ตั้งแง่” กับเรื่องราวหรือสาระที่เราคุ้นชินจนกำหนดบางสิ่งบางอย่างไปก่อนที่จะไตร่ตรองมันอย่างถ้วนถี่

มีหนังดีประเภทหนึ่งที่มีความสนุกแบบวรรณกรรม หรือหนังสือดีๆ สักเล่ม กล่าวคือเมื่อครั้งแรกที่เราเปิดอ่าน อาจด้วยเนื้อหาที่สลับซับซ้อน หรือวิธีการเขียนที่ยากจะเข้าถึง ทำให้เรายากจะเข้าถึงและไม่อยากอ่านต่อไป แต่เมื่อผ่านเวลาขบคิด และทบทวน ความสนุกก็จะเกิดตามมาได้ไม่ยาก

และผมเชื่อว่า “สัตว์ประหลาด” สามารถทำได้อย่างนั้น

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home