December 20, 2002

Hero อีกลักษณ์ใหม่แห่งหนังกำลังภายใน

หากหนังคาวบอย(Western) คือมรดกล้ำค่าของภาพยนตร์อเมริกัน หนังกำลังภายในก็ดูจะมีคุณค่าและสถานะไม่ต่างกันในภาพยนตร์จีน ด้วยรูปลักษณ์และจุดเด่นที่ใกล้เคียงตั้งแต่ การนำเสนอหนังย้อนยุคด้วยเรื่องราวที่ข้องเกี่ยวกับการต่อสู้ โลกของคนพิเศษกว่าคนธรรมดา การแต่งกายและบุคลิกตัวละครที่ไม่อาจหาจากหนังแนวอื่นใดได้

นอกจากนี้หนังคาวบอยกับหนังกำลังภายในยังเกี่ยวดองกันอยู่ไม่น้อย นักประพันธ์นามกระเดื่องอย่างโกวเล้งได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมของหลุยส์ ลามูร์หลายเรื่องมาดัดแปลงจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำงานของตกเอง และตกทอดไปสู่ภาพยนตร์

อย่างไรก็ตามความดีเด่นที่เหนือกว่าของหนังกำลังภายในนั้นเห็นได้ชัดกว่า สังเกตได้จากการนำเสนอเรื่องของยุคสมัยที่หลากหลายกว่าเพราะประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศจีนเอื้อกว่ายุคก่อร่างสร้างประเทศอเมริกัน บทประพันธ์ที่ถูกดัดแปลงมีตั้งแต่วรรณกรรม,ประวัติศาสตร์,พงศาวดาร ไปจนถึงอุปรากรงิ้ว

ถึงกระนั้นจากการผลิตอันหนักหน่วงของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงมายาวนาน ตั้งแต่ยุคชอว์ บราเธอร์-โกลเด้น ฮาร์เวสต์-จนมาถึงยุคของฉีเคอะ หนังกำลังภายในถูกสร้างมาหลากหลายและขาดคุณภาพลงเรื่อยเมื่อเทียบกับปริมาณที่มากมายของมัน จนดูเหมือนจะมาถึงทางตัน ถึงขนาดฉีเคอะทำ”เดชไอ้ด้วน” เป็นบทสรุปของภาพที่แท้แห่งยุทธภพ ไม่ต่างจากที่แซม แพคินพาห์แสดงบทสรุปแห่งหนังคาวบอยที่เผยเนื้อแท้อันป่าเถื่อน

แนวทางของ ฟงหวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า( Storm Rider ) เป็นความพยายามอีกครั้งที่จะสร้างความแปลกใหม่ให้กับหนังกำลังภายใน แต่ด้วยลักษณะความเป็นการ์ตูนสูง และขาดความพิถีพิถันอย่างจริงจัง แนวทางดังกล่าวจึงหายไปในเวลาอันสั้น (อันที่จริงก็เคยมีคนทำแนวทางนี้มาแล้วอย่าง Heroic Trio ของตู้ฉีฟง หรือ Wicked City ที่อำนวยการสร้างโดย ฉีเคอะ)

และเแม้ Crouching Tiger,Hidden Dragon จะประสบความสำเร็จอย่างสูงทั่วโลก แต่ผลงานของอังลี่ก็เสมือนเป็นการปัดฝุ่นและคารวะของเก่าในรูปโฉมที่งดงามขึ้นมากกว่าจะเกิดแนวทางใหม่ๆ เช่นเดียวกับ Ashes of Time ของหวังเจียเหว่ย ที่ไม่ได้มีเจตนาเพื่อความบันเทิงในวงกว้าง แต่เป็นการตีความอมตะนิยายอย่าง “มังกรหยก” ด้วยเอกลักษณ์ของตน

จางอี้โหมว หนึ่งในผู้กำกับจีนรุ่นที่ 5 ซึ่งมีผลงานในระดับชาติมากมาย ซึ่งผลงานเหล่านั้นแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับหนังกำลังภายในเลยสักนิด กระนั้นเมื่อดู Hero จบ แสดงให้เห็นชัดยิ่งว่าเขาพยายามที่จะแหวกแนวทางเดิมๆของหนังกำลังภายในออกมา และไม่ละทิ้งคนดูวงกว้าง แม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ถือว่าเขาได้สร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยมอีกชิ้น

Hero นำเหตุการณ์จริงตามพงศาวดารจีนในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ มาขยายความใหม่ เป็นเรื่องของมือสังหารคนหนึ่งที่มีโอกาสสามารถปลิดชีพจักรพรรดิจิ๋นได้ในระยะ 10 หลา แต่เกิดจังหวะผิดพลาดทำให้แผนการล้มเหลว

เรื่องถูกบอกเล่าทั้งหมดระหว่าง ไร้นาม(เจ็ต ลี) กับจักรพรรดิ(เฉินต้าหมิง) บอกเล่าซักถามความเป็นไปถึงความสามารถการกำจัดศัตรูในการรวมแผ่นดินของจักรพรรดิจิ๋น ซึ่งได้แก่ มือสังหาร 3 คน—ฟ้าเวิ้ง(เจิ้นจื่อตัน),กระบี่หัก(เหลียงเฉาเหว่ย),และหิมะเหิน(จางม่านอวี้) จนไร้นามได้มาเข้าเฝ้าจักรพรรดิตามกฎที่ประกาศไว้ รวมไปถึงการตีความเรื่องที่เล่าเสียใหม่ตามความคิดของจักรพรรดิ และการเปิดเผยข้อเท็จจริงจากไร้นาม

เนื้อหาหลักๆทั้งหมดของฮีโร่มีอยู่เท่านั้นจริงๆ จางอี้โหมวตัดสินใจเล่าเรื่องเช่นเดียวกับวิธีจากเรื่อง ราโชมอน โดยลดความลุ่มลึกลงแต่ทำหน้าที่อย่างเดียวกันนั่นคือนำเรื่องเดิมมาตีความซ้ำโดยมุมมองของแต่ละบุคคลเพื่อเปลื้องเปลือยเนื้อแท้ในจิตใจมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการโกหกหลอกลวง หรือภาพแห่งศักดิ์ศรีที่ฉาบคลุม และค่าความเป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของหิมะเหิน และกระบี่หัก ที่ถูกบอกเล่าโดยวิธีดังกล่าว

เหลียงเฉาเหว่ย และจางม่านอวี้ ให้การแสดงที่เปี่ยมบุคลิกอันซับซ้อนในหลายเหตุการณ์แตกต่างกัน ทั้งอิจฉาริษยา สงบเยือกเย็น แต่เธอก็ไม่ทิ้งความสูงศักดิ์ของหิมะเหิน เช่นเดียวกับเขาที่แสดงความเป็นคนนอกอย่างมั่นคง

ในท้ายที่สุดเรื่องราวทั้งหมดที่ถูกเล่าได้เฉลยสู่ความเป็นจริง เช่นเดียวกับ จักรพรรดิและไร้นามที่พึ่งตระหนักถึงสิ่งที่ กระบี่หักมอบไว้ให้ พวกเขาพบเป้าหมายที่จะปฏิบัติผิดแผกจากเริ่มต้น

จางอี้โหมวไม่ลืมใส่เรื่องราวเกื้อหนุน เพื่อวิพากษ์การเมืองตามความถนัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิปัญญาแห่งรัฐจ้างอันอาจสูญหายด้วยน้ำมือคนๆเดียว, การเข้าใจสัจธรรมที่แท้ของจักรพรรดิจิ๋นที่ท้ายสุดก็ไม่อาจดิ้นหลุดจากระบบที่ตัวเองก่อร่างไว้

งานชิ้นก่อนๆของเขาใช้สีและภาพเล่าเรื่องจนโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น Shanghai Triad, The Road Home เรื่องนี้กลับยิ่งแจ่มชัดว่าเขานำมาใช้เพื่อแบ่งแยกเหตุการณ์ที่เล่าซ้ำๆให้ชัดเจน และหากมองลึกลงไปก็จะพบว่ามันกลมกลืนสนิทกับอารมณ์ที่ผู้เล่าต้องการหรือตีความเหตุการณ์เหล่านั้น( เช่น ไร้นามเล่าเหตุการณ์การสังหารกระบี่หักและหิมะเหินด้วยความคุกรุ่นทางอารมณ์ภาพจึงเป็นสีแดง, ส่วนจักรพรรดิตีความด้วยความเห็นด้านบุคลิกของกระบี่หักว่าอ่อนโยนและสงบ จึงถูกเล่าด้วยสีน้ำเงิน) นอกเหนือจากนี้เขายังแสดงความจัดเจนในฐานะที่อดีตคือผู้กำกับภาพ Hero จึงเต็มไปด้วยภาพมุมกว้างอันแสดงความตระการตาจากฉาก ,ฉากสงครามที่กองทัพยิงธนูอันสมจริง, ฉากการต่อสู้แบบกำลังภายในอันอ่อนช้อย ทรงพลัง แสดงศิลปะการต่อสู้ที่สวยงามเกินจริง

มองโดยภาพรวม Hero อาจไม่ใช่งานที่จับต้องง่ายนัก เพราะมันผสมผสานระหว่างศิลปะและความบันเทิง กระนั้นก็ตามเมื่อใส่ใจในรายละเอียดก็พบว่าก็ไม่ยากที่จะสัมผัสเรื่องราวของมัน ไม่ว่าจะเป็นชื่อตัวละครแต่ละคนที่บอกถึงบุคลิกอย่างเด่นชัด(ฟ้าเวิ้ง ผู้เย่อหยิ่ง, กระบี่หัก ผู้ละซึ่งการฆ่าฟันด้วยเข้าใจซึ่งจุดหมายแห่งมนุษยชาติ) วิธีการเล่าอย่างพื้นฐานของภาพยนตร์ หรือสาระสำคัญอันเรียบง่ายเกี่ยวกับจุดหมายของมนุษย์เพื่อประโยชน์สุขแห่งแผ่นดิน คำว่า “ใต้หล้า” ถูกขับเน้นได้อย่างตรงไปตรงมาแต่ทรงพลัง ไม่ต่างกับอักษรจีนที่ใช้สื่อสารนั้นกลับเขียนได้หลายรูปแบบเพื่อการตีความ

ไม่ต่างกับผู้ชม ว่าจะตีความเรียบง่ายดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด ผิดหวัง หรือ ชื่นชม, ตื้นเขิน หรือ ลึกซึ้ง

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home