October 01, 2002

Road to Perdition : เส้นทางสายมรณะ

Road to Perdition : เส้นทางสายมรณะ

หากเราจะลองนิยามหนังเรื่องนี้สักหน่อย ก็คงจะได้ความแปลกๆที่ไม่ค่อยจะเข้ากันนัก ก็คือ "หนังครอบครัวระหว่างพ่อลูก ฉบับมาเฟีย"

Road To Perdition มาจากนิยายภาพประกอบชื่อเดียวกัน เล่าเรื่องราวในปี ค.ศ.1931 สมัยที่อำนาจมาเฟียนามอัลคาโปนใหญ่คับฟ้า

ไมค์ ซัลลิแวน มือปืนของมาเฟียไอริชนามกระฉ่อนนามจอห์น รูนี่ย์และลูกชายไมเคิล ซัลลิแวนต้องหนีระเห็จจากบ้านเดิม หลังจากภรรยาและปีเตอร์ลูกชายอีกคนต้องถูกคอนเนอร์ลูกชายของจอห์น รูนี่ย์ล้างแค้นจากความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่พ่อเห็นไมค์ดีกว่าเขา โดยอ้างเหตุผลในการฆ่าเพราะเรื่องที่ไมเคิลไปเห็นพ่อของเขาและตัวเขาฆ่าคนเป็นครั้งแรก แต่การฆ่ากลับผิดตัวด้วยความเมามายและสะเพร่า

ไมค์ตัดสินใจหนีไปเพอร์ดิชั่นบ้านของญาติคนเดียวที่เขาพอจะพึ่งพาได้ แต่ก่อนที่จะไปถึงเขาต้องหาสะสางปัญหาต่างๆให้เสร็จสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลบหนีการตามล่าของมือปืนรับจ้างที่มาเฟียทั้งสองฝ่าย การวางแผนเพื่อตีโต้กลับ และแน่นอนที่สุดคือการล้างแค้นให้กับภรรยาและลูกของเขา

อีกส่วนที่นอกเหนือจากเรื่องราวแบบแก๊งสเตอร์ก็คือ การถ่ายทอดความสัมพันธ์ที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นระหว่างพ่อกับลูก ไมค์ได้เห็นความเหมือนระหว่างเขาและไมเคิล(โปรดสังเกตชื่อ) ส่วนไมเคิลก็ได้เปิดเผยอารมณ์ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจของเขาที่มีต่อพ่อที่ไม่เคยเปิดเผยอาชีพ อารมณ์ และความรู้สึกใดๆก่อนหน้านั้นเลย ส่วนจอห์น และคอนเนอร์ก็เป็นการพัฒนาให้เราได้เห็นถึงปัญหาของครอบครัวที่พ่อกับลูกคู่นี้มีในอีกรูปแบบหนึ่งอย่างไม่เกินจะคาดเดานัก

หนังจงใจเล่นเรื่องปมโอดิปุสชัดเจน คำพูดของจอห์นกับไมค์ก็ชัดเจนยิ่ง "ลูกทุกคนมักนำปัญหามาให้พ่อเสมอ" ใน Road To Perdition การล้างแค้นของไมค์เสมือนเป็นการช่วงฆ่าพ่อ(ในความคิด)ของไมเคิลแทน รวมถึงฆ่าปมเกลียดพ่อของเขาออกไปด้วย ส่วนไมเคิลก็เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงจิตใจรับส่วนดีของเขา ละทิ้งด้านร้ายออกไป ไม่ต้องเข้าหาด้านมืดเช่นเขา

ในช่วงที่เรื่องดำเนินไปพร้อมกับความรุนแรงนั้น หนังทำได้อย่างหนักแน่น และหลากหลายอารมณ์ไม่ว่าจะด้วยการสร้างให้เป็นมุมมองสายตาของไมเคิล, การไล่ล่าในท้องถนน, ความรวดเร็วในการชิงไหวชิงพริบ, อารมณ์เศร้าและมืดมน ส่วนช่วงที่นำเสนอเรื่องของพ่อกับลูกหนังก็เสนอความอบอุ่นปะปนกับตลกร้าย แม้จะไม่กลมกลืนนัก แต่ก็ถือว่ากลมกลืนได้อย่างไม่น่าเชื่อในการผนวกเรื่องอาชญกรรมปนกับเรื่องครอบครัวแบบนี้

ทอม แฮงค์ และพอล นิวแมน ยังคงยอดเยี่ยม พวกเขาสร้างภาพที่ดูโดดเด่น เด็ดขาด น่าเกรงขาม ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพที่อ่อนไหว อ่อนแอของตนเอง แบบมนุษย์ที่จมปลักกับโลกมืด

องค์ประกอบของงานสร้างที่น่าพูดถึงเป็นอันดับแรก คือ ดนตรีประกอบโดย โทมัส นิวแมนที่ผสมผสานสำเนียงหวานเศร้าเฉพาะตัวของไอริช กับดนตรีคลาสสิค หลายครั้งมีแจ๊สมาเจืออย่างกลมกลืนเข้ากับฉากเหตุการณ์ที่ไปชิคาโก เหมาะสมกับเนื้อเรื่องและสร้างอารมณ์แต่ละช่วงได้อย่างหมดจด และงานกำกับภาพของคอนราด ฮอลล์ที่รวมเข้ากับการกำกับศิลป์ และการแต่งกายของตัวละครจนภาพที่ออกมาดั่งงานจิตรกรรมสีหม่น หลายครั้งแทบไม่ต่างกับภาพขาวดำ กลายเป็นการสะท้อนแนวฟิล์มนัวร์ของเรื่องได้อย่างดีโดยไม่ต้องแปลกแยกกับอารมณ์ช่วงอบอุ่นของหนัง

หนังมีฉากที่น่าพูดถึงหลายฉาก ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ไมเคิลเห็นการฆาตกรรมครั้งแรกซึ่งให้มุมมองที่จำกัดแต่ทำได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ, การประชุมที่แสนกดดันของจอห์น รูนี่ย์และลูกชาย, ภาพแสดงถนนสู่เมืองชิคาโกที่ดั่งไม้กางเขน หรือการที่คนในเมืองนั้นต่างอ่านหนังสือพิมพ์ปิดหน้าปิดตา วุ่นวายแต่ช่างซ่อนเร้น ซึ่งดูจะสมบูรณ์ไปหมด แต่ก็อาจทำให้หนังขาดความโดดเด่นในฉากใดฉากหนึ่งอย่างชัดเจนไปอย่างน่าเสียดาย และพาลนึกตั้งแง่ในตัวผู้กำกับว่า "อะไรจะสมบูรณ์นิยมขนาดนี้"

และหลายคนคงจะผิดหวังเล็กๆกับลักษณะของเรื่องที่ไม่ซับซ้อน และคาดเดาได้ในหลายๆอย่าง ผิดกับผลงานแรกที่สร้างชื่อของ แซม เมนเดส อย่าง American Beauty แต่คาดหวังได้เลยกับความประณีตในงานสร้างทุกๆด้าน ซึ่งหนังมีให้เต็มเปี่ยมสำหรับความเป็นศิลปะ การสร้างอารมณ์ทั้งด้านรุนแรงและเศร้าสะเทือนใจ

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home