July 12, 2003

Terminator 3 : Rise of the Machines เมื่อถึงวันที่หุ่นยนต์เรืองอำนาจ

Terminator 3 : Rise of the Machines
เมื่อถึงวันที่หุ่นยนต์เรืองอำนาจ




หลังจากใช้เวลาถึง 11 ปีในการเกิดภาคต่อของ Terminator อีกครั้ง ท่ามกลางความวุ่นวายที่เกิดจากปัญหาสารพัดไม่ว่าจะเป็น คารอลโก้ บริษัทผู้สร้างเดิมล้มละลาย, การแย่งลิขสิทธิ์กันของบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ในฮอลลีวู้ด, หาตัวนักแสดงแทนที่ผู้ที่ไม่ได้เล่นแทนอย่าง เอ็ดเวิร์ด เฟอร์ลอง และลินดา แฮมิลตัน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือผู้ให้กำเนิดผลงานอย่าง เจมส์ คาเมรอน ปฏิเสธที่จะมากำกับอีกครั้ง



การมาแทนที่คาเมรอน ของโจนาธาน มอสโทว์ ผู้กำกับที่แจ้งเกิดจากผลงานดังอย่าง Breakdown และ U-571 ฃ ได้ทำให้งานชุดนี้ในแต่ละภาคถูกแยกเป็นเอกเทศกันในที่สุด ไม่ต่างจากงานหนังไซไฟชุด Alien



กล่าวคือแต่ละภาคอาศัยโครงเรื่องเดียวกันนั่นคือ เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในปีที่ฉายพอดี บางสิ่ง(Terminator) จากอนาคตไล่ล่ามนุษย์คนหนึ่ง(จอห์น คอนเนอร์) ซึ่งจะเป็นผู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับอนาคตนั้น เรื่องราวทั้งหมดเน้นการไล่ล่าและห้ำหั่นกันบนถนนเป็นสำคัญ โดยต่างมีลีลาการนำเสนอแตกต่างกันไป ได้แก่ Terminator(1984) ที่เน้นการสร้างสถานการณ์ตื่นเต้นต่างๆ ให้คนดูกดดันโดยมีฉากต่อสู้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง ที่เหลือเป็นพัฒนาการด้านบุคลิกตัวละครเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องมาจากทุนสร้างที่มีจำกัด แต่มันก็ทำให้หนังออกมาเป็นงานไซไฟที่ฉลาดในการเขียนบทและผูกเรื่องการย้อนมิติเวลาได้อย่างหลักแหลมเกินระดับฟอร์มหนัง, และ Terminator 2 : Judgement Day(1991) ได้กลายเป็นงานแอ๊คชั่น-ไซไฟเต็มตัว ที่ผสมผสานฉากต่อสู้เข้ากับงานเทคนิคพิเศษด้านภาพที่ถือเป็นมิติใหม่ของโลกภาพยนตร์



ขณะที่ในภาคนี้เริ่มเรื่องหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านพ้นไป 11 ปี ภายหลังจากที่ซาร่าห์ แม่ของจอห์น คอนเนอร์เสียชีวิตลง จอห์น(นิค สตาห์ล) ใช้ชีวิตอย่างแปลกแยกจากคนทั่วไป ร่อนเร่ไปทั่วตัดขาดจากคนภายนอก และสังคมทั่วไป กระนั้นฝันร้ายเกี่ยวกับการตามล่า และอนาคตที่เขาไม่อยากเป็นผู้กอบกู้โลกและมนุษยชาติยังตามวนเวียนเขาอยู่ไม่เว้นวาย



ดูเหมือนจะไม่มีคืบคลานมาหาเขาและโลกนี้อีก แต่แล้วกองทัพหุ่นยนต์จากโลกอนาคตก็ได้ส่งหุ่นยนต์สาว T-X (คริสแทนน่า โลเคน)ออกมาไล่ล่าเขาอีกครั้ง มันมีลักษณะพิเศษที่เคลือบด้วยโลหะหลอมเหลวเช่นเดียวกับ T-1000 และยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบเน็ตเวิร์คค้นหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวจอห์นได้อีกด้วย



จอห์นได้พบกับเพื่อนเก่าแคทเธอรีน บรูวสเตอร์(แคลร์ เดนส์) โดยบังเอิญพอดีกับที่ T-X ได้ไล่ล่าตามพวกเขาจนเจอ โชคดีที่ทางโลกอนาคต มนุษย์ก็ได้ส่งหุ่นยนต์ T-101(อาร์โนลด์ ชวาร์ซเนเกอร์) มาเช่นกันเพื่อช่วยปกป้องพวกเขาทั้งสอง และเข้าห้ำหั่นกับศัตรูที่เก่งกาจ หลังจากที่อีกฝ่ายเป็นผู้ไล่ล่า และอีกฝ่ายเป็นผู้หลบหนีข้างเดียว จอห์น และ แคทเธอรีน ต้องเผชิญกับแสนยานุภาพแห่งการทำลายล้างสารพัด และเล่ห์เหลี่ยมของหุ่นยนต์รุ่นใหม่ อันนำไปสู่การพบปริศนาที่เขาและแคทเธอรีนต้องเกี่ยวข้องกันอย่าง “ไม่บังเอิญ” ซึ่งเกี่ยวพันกับ “วันสิ้นโลก”



เห็นได้ชัดว่าผู้สร้างไม่พยายามที่จะตามรอยเดิมจากความสำเร็จถล่มทลายของ T2 อาจด้วยเหตุผลประการสำคัญคืองานด้านเทคนิคพิเศษที่ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ใดๆ ให้ปรากฎแก่สายตาผู้ชมได้เช่นเดียวกับของเดิม หรือกับคู่แข่งอย่าง The Matrix งานชิ้นนี้จึงเน้นฉากการทำลายล้างชนิดวินาศสันตะโรเป็นสำคัญ ซึ่งให้ภาพที่ดูสมจริง โดดเด่นกว่าฉากประเภทเดียวกันในหนังเรื่องอื่นๆ พร้อมกันนั้น และยังคงความตื่นเต้นได้อย่างดี หากแต่ระดับความตื่นตาด้านภาพก็ลดลงไปอย่างไม่อาจปฏิเสธจนเหมือนเป็นการจงใจของมอสโทว์ที่ไม่คิดสู้กับคาเมรอน



จากผลงานที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าโจนาธาน มอสโทว์ถนัดอย่างยิ่งในงานเขย่าขวัญ(Thriller) ท่ามกลางเนื้อหาที่เคร่งขรึมเป็นตัวรองรับ เขาสร้างผลงานที่แตกต่างออกไปจากของเดิม และเห็นได้ชัดว่าเขาทำได้อย่างดีในฉากรเขย่าขวัญคนดูจากหุ่นยนต์ผู้ไล่ล่า T-X แทนซึ่งความเย็นชาของเธอจัดว่าน่ากลัวไม่น้อย แต่ช่วงหลังบทบาทดังกล่าวของเธอก็ลดทอนลงไปอย่างน่าเสียดาย



อย่างไรก็ตามหากตัดความสมเหตุสมผลบางอย่าง และการเล่าเรื่องที่ลดความซ้ำซ้อนลงจาก 2 ภาคแรกไปได้บ้าง T3 ก็จัดเป็นงานสานต่อที่น่าพอใจไม่ว่าจะด้วยความจงใจของผู้เขียนบท หรือด้วยเหตุผลใดๆในการทำให้ T3 : Rise of the Machines ผิดแผกแตกต่างจากหนังเรื่องนี้ในภาคก่อน และได้สนองความรู้สึกถึงวันสิ้นโลกให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นคือการสร้างฉากแอ๊คชั่นและฉากต่อสู้ที่สมจริงมากขึ้น โดยเฉพาะฉากไล่ล่าที่เป็นการทำลายอาคารบ้านเมืองที่เห็นชัดมากขึ้น เสมือนจะบ่งบอกเป็นสัญญาณว่าสองภาคที่แล้วเป็นเหมือนสัญญะของวันสิ้นโลกในมโนภาพของซาร่าห์ คอนเนอร์ แต่นี่คือการทำลายล้างจริงๆ



ภาคแรกเห็นได้ชัดว่าเป็นการได้รับอิทธิพลจากหนังไซไฟหลังสงครามเย็น ตัว Terminator เป็นดั่งภัยจากอนาคตที่ไกลตัวและไม่น่าเชื่อ รูปร่างของหุ่นยนต์เสมือนหลุดมาจากประเภทหนังไซไฟแบบที่เรียกว่า ไซเบอร์พังค์ คือเป็นมนุษย์อนาคตที่ดูเย็นชา แต่งตัวอันธพาล และมีด้านมืดในจิตใจตามศีลธรรมอันเสื่อมถอย



ภาคต่อมากลับกลายเป็นว่าหุ่นสังหารตัวนั้นกลับกลายเป็นมิตรกับมนุษย์ได้ คล้ายกับว่าภัยสงครามเย็นได้คลายตัวไปมาก แต่สิ่งที่เป็นศัตรูมนุษย์กลับเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นมากขึ้น นั่นคือมนุษย์กลัวการไม่มีตัวตนในโลกยุคใหม่ นั่นทำให้ศัตรูอย่าง T-1000 เป็นโลหะหลอมเหลวที่เปลี่ยนบุคลิกและรูปร่างได้ตลอดเวลา



T-X ศัตรูในภาคนี้เปิดตัวในเวลาพร้อมๆ กับ Terminator ดั่งกับว่าเธอเกิดมาเป็นคู่แข่ง “คนเหล็ก” ตัวเดิม และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะตัวละครมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นจอห์น และแคทเธอรีน ต่างถูกกลบและหลีกทางให้ทั้งคู่ห้ำหั่นกันทั้งเชิงบู๊และเชิงบุ๋นที่พูดไม่มากแต่เด็ดขาดกว่าคน



ศัตรูคราวนี้เหมือนจะด้อยกว่า T-1000 ตัวก่อน แต่มันก็มีสติปัญญาเหนือกว่า อันชี้ชัดเกี่ยวกับความสมจริงของหุ่นยนต์ในอนาคตมากขึ้น มิหนำซ้ำการที่หุ่นยนต์ตัวนี้เป็นเพศหญิง ซึ่งเพิ่มความรู้สึกที่เข้ากับบรรยากาศยุคเดียวกันกับผู้ชม(เช่นเดียวกับ 2 ภาคแรก) นั่นคือบทบาทที่มากขึ้นและทัดเทียมกับชายของผู้หญิงในปัจจุบัน อันมีแนวโน้มในปัญหาการปรับเปลี่ยนสถานภาพของชายในยุคต่อไป



ขณะที่การเปรียบเทียบของ T-X และ T-101 เป็นภาพเปรียบของหญิงและชายแล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่อันไม่แน่นอนระหว่างมิตรและศัตรูของตัว T-101 ในเรื่องและในอนาคตอีกด้วย



ด้านงานสร้างเอง หนังก็ยังสามารถรักษาความโดดเด่นของบรรยากาศเช่นเดียวกับทั้ง 2 ภาคไว้ได้ มันไม่ได้โชว์ความทันสมัยใดๆ แต่ให้ภาพเหตุการณ์ปัจจุบันอันสะท้อนถึงอนาคตที่น่าตื่นตระหนกได้ชัดมากกว่า



สุดท้ายการที่ T3 เลือกนักแสดงหลักเกือบทั้งหมดเป็นนักแสดงใหม่แตกต่างจากภาคเดิม(ยกเว้น อาร์โนลด์ ชวาร์ซเนเกอร์ ที่รับบท T-101 หรือ Terminator มาตั้งแต่ต้น แต่ในก็ยังถือว่าเป็นหุ่นตัวใหม่) ถือเป็นการเริ่มจากจุดเริ่มต้นอีกครั้งทำให้ผู้ชมไม่ต้องรู้สึกเปรียบมวยมากนัก



และเมื่อบทสรุปเป็นการให้ความหวังที่ไม่ยอมแพ้ต่ออนาคตที่มืดมนสักเพียงใด ก็ยิ่งเหมือนจะจงใจบอกเราว่าคนดูมีความหวัง(โดยไม่ต้องคิดเอง)ว่าเตรียมมีภาคต่ออีกแน่ๆ (ถ้ามันประสบความสำเร็จ)

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home